บทสัมภาษณ์ คุณดุสิต มั่นแถม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮูเรย์ เวนเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผลิตและจัดจำหน่าย จักรปักคอมพิวเตอร์

Home 9 News & Activities 9 บทสัมภาษณ์ คุณดุสิต มั่นแถม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮูเรย์ เวนเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผลิตและจัดจำหน่าย จักรปักคอมพิวเตอร์

บทสัมภาษณ์ คุณดุสิต มั่นแถม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮูเรย์ เวนเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผลิตและจัดจำหน่าย จักรปักคอมพิวเตอร์

Jan 10, 2019 | News & Activities

Hooray Venture ผู้บุกเบิกและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรปักของไทย ได้วางแผนปั้นสตาร์ทอัพ ผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจแฟชั่น พร้อมเปิดโฉมเครื่องจักรปักรุ่นล่าสุดที่มาพร้อมกับความอัจฉริยะ ความเร็วสูง ฝีเข็มละเอียด ในงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้า ที่โรงแรมระยองบีช 9-11 กันยายน 2559

คุณดุสิต มั่นแถม กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮูเรย์ เวนเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Hooray Venture) กล่าวถึงแนวคิดในการส่งเสริมผู้ที่ต้องการจะเริ่มธุรกิจว่า

“เรามองเห็นโอกาสและช่องทางการเติบโตของธุรกิจแฟชั่นของไทย ที่ต้องอาศัยทักษะฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ ผนวกกับความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการออกแบบลายปัก และเทคนิคการปักสมัยใหม่ เราจีงมีความคิดที่อยากจะถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เหล่านี้สู่ SME หรือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ โดยจะเริ่มทำโปรเจคสตาร์ทอัพ ร่วมกับสถาบันการศึกษา

ปีนี้ทางบริษัทฯ ได้วางแผนจัดโครงการนี้ ร่วมกับสถาบันการศึกษาก่อนที่จะขยายไปยังกลุ่มผู้ที่สนใจอื่นๆ ทั้งกลุ่ม SME และผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจแฟชั่น หรือสร้างแบรนด์ของตนเอง โดยอาศัยเทคโนโลยีจักรปักและการทำซิลส์สกรีน ซี่งสามารถทำได้ทั้งวัสดุผ้า และหนังพีวีซี หรือการปักลายบนชิ้นงานแฟชั่นต่างๆ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ถุงเท้า เคหะสิ่งทอ และสินค้าพรีเมี่ยมต่างๆ

…รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ทางบริษัท Hooray จะทำผ่านการสอนในสถาบันการศึกษา โดยเราจะนำเครื่องจักรปัก และวิทยากรเข้าไปให้ความรู้ ซึ่งทางบริษัทไม่ได้ผูกมัดว่าจะให้มาซื้อเครื่องปักของเรา ทว่าเป็นการเริ่มให้ข้อมูลกับนักศึกษาที่จะเรียนจบออกมาเป็นแรงงานรุ่นใหม่หรือแม้แต่ประกอบกิจการเป็นของตัวเอง โดยเราจะการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนเห็นว่าเมื่อเรียนจบออกมาแล้วสามารถลงทุนเป็น SME ได้ไม่ยาก โดยหลักสูตรของเราจะสอนตั้งแต่ วิธีการลงทุน วิธีการหาลูกค้า วิธีการจัดร้านและการทำโปรดักชั่น การแนะนำเครื่องจักรปักและอุปกรณ์ที่สำคัญต่อธุรกิจ รวมทั้งการอัพเดทเทคโนโลยีล่าสุด นอกจากนี้คอร์สเรียนของเราจะสอนผู้เรียนให้ คิด และ เป็นขั้่นตอน นั่นหมายถึงผู้เรียนจะสามารถทำงานโดยลงรายละเอียดต่างๆได้ เช่น การจับคู่วัสดุกับเส้นด้ายหรือไหม และ การออกแบบที่ต้องคำนึงถึงความตึงของเส้นไหม เป็นต้น

…ธุรกิจการปักผ้าไม่ใช่เครื่องจักรปักที่ฉลาดเพียงอย่างเดียว แต่ทักษะการปักก็มีความสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝน และการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อให้ตนเองเป็นความเชี่ยวชาญในงาน”

เทคโนโลยีของจักรปัก HOORAY มาตรฐานเดียวกับญี่ปุ่น

คุณดุสิต กล่าวต่อไปถึงที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรปักว่า บริษัท ฮูเรย์ เริ่มธุรกิจเครื่องจักรปักมากกว่า 15 ปีแล้ว และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดการ์เมนท์ และแฟชั่นที่ผลิตโดยคนไทยเป็นรายแรก สมัยก่อนคนไทยต้องนำเข้าเครื่องจักรปัก เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งต้องลงทุนสูง และใช้เวลาในการคืนทุนค่อนข้างนาน ตลาดของเครื่องจักรปักในช่วงนั้นก็มีการแข่งขันสูง และมองว่าต่อไปเครื่องจักรปักญี่ปุ่นเองก็น่าจะมีปัญหาเรื่องราคา จึงตัดสินใจตั้งโรงงานและประกอบเครื่องจักรปักเอง โดยตั้งบริษัทที่ สิงคโปร์ และสร้างทีมเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรปัก รวบรวมองค์ความรู้และความฉลาดของเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน

สำหรับโรงงานผลิตเครื่องจักรปักแห่งแรกของ Hooray ที่ Luzhou มณฑล Suzhou ผลิตเครื่องจักรปักหน้าเรียบ ต่อมาตลาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โรงงานการ์เมนไทยที่เคยใช้เครื่องจักรปักใหญ่ๆ เริ่มลดน้อยลงขณะที่เครื่องจักรปักลดโต๊ะกลับนิยมใช้กันมากขึ้นจึงตัดสินใจเปิดโรงงานแห่งที่สองที่เมือง Zhuji เพื่อผลิตเฉพาะเครื่องจักรปักลดโต๊ะ พร้อมกันนั้นยังเร่งขยายออฟฟิศ โดยจัดตั้งเอเยนต์ในแถบตลาดอาเซียน เช่น พม่า มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนิเซีย เพื่อรองรับตลาดเครื่องจักรปักที่เติบโตในแถบอาเซียน

“ส่วนใหญ่ตอนนี้ เทคโนโลยีเครื่องจักรปักหลักๆ คือประเทศจีนสำหรับญี่ปุ่นที่เหลือมีเพียงรายเดียว แต่ก็ผลิตที่จีน ส่วนจักรปักเยอรมัน จักรปักเกาหลี ไม่มีแล้ว ตอนนี้เทคโนโลยีเครื่องจักรปักอยู่ในจีนทั้งหมด และ ร้อยเปอร์เซนต์ผลิตในจีน”

“ด้านการทำตลาดจักรปัก ตอนนี้เราทำงานไปขยายไปใน AEC เราทำตลาดทุกประเทศ ตลาดหลักคือ อาเซียนกับไทย นอกจากนี้ก็ยังขายผ่านเอเย่นต์ไปที่อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียใต้ สำหรับตลาดที่จักรปัก Hooray จะขยายต่อไปก็คือ อเมริกา กับยุโรป ซึ่งจะเป็นตัวลดโต๊ะซึ่งเราส่งตัวอย่างไปแล้วและรอดูว่าตลาดจะตอบรับอย่างไร”

เปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุดจักรปัก รุ่น K และ Z

ในเดือนกันยายนนี้ ทางบริษัท Hooray จะจัดงานเปิดตัวและแนะนำเทคโนโลยีเครื่องจักรปักรุ่นใหม่ล่าสุด รุ่น Z และรุ่น K ที่เพิ่มความรวดเร็วถึง  1,200 รอบต่อนาที พร้อมฟังก์ชั่นใหม่ๆ ที่ฉลาดมากขึ้น ปักได้ละเอียดมากขึ้น หน้าจอทัชสรีน 12 นิ้ว ใหญ๋ที่สุด เมนูภาษาไทยมีระบบการซ่อมลายปัก การส่งข้อมูลทำได้ดีขึ้น ที่โรงแรมระยองบีชโดยจัดเป็นงานเปิดตัวจักรปักที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่และเลี้ยงขอบคุณลูกค้า

“เราจะจัดแสดงเครื่องจักรปัก 6 หัว ทั้งรุ่น Z หน้าโต๊ะเรียบ เหมาะสำหรับงานการ์เมนท์ และรุ่น K เครื่องลดโต๊ะ สำหรับปักชิ้นงานเอนกประสงค์ มีจักรปักรุ่นประหยัด ทั้งจักรปักรุ่นหัวเดียว และจักรปักสองหัวไปโชว์ในงานเปิดตัวครั้งนี้ด้วย มีตั้งแต่รุ่นราคา 2.5-9.5 แสนบาท สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าเราอยู่แล้ว ก็ถือโอกาสเชิญมาดูเทคโนโลยีใหม่ของจักรปัก พร้อมมอบข้อเสนอพิเศษภายในงาน” คุณดุสิตกล่าว

สำหรับเครื่องจักรปักรุ่นใหม่นี้เหมาะกับกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ทำธุรกิจปักมาแล้วสัก 2-3 ปี ที่เริ่มมองการขยายงานและเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งภายในงานจะมีการแนะนำเครื่องจักรปักเทคโนโลยีใหม่ การบำรุงรักษาเครื่องจักรปักทั่วๆไป และการทำโปรดักชั่น ออกแบบงานผสมผสานงานสกรีนและปักเข้าด้วยกัน

“เราไม่เน้นสกรีน แต่สกรีนแล้วปักลงบนลายสกรีน หรือไม่ก็ทำสกรีนและปักบางส่วน นอกจากนี้ยังแนะนำงานปักผ้า บนงานเลเซอร์ งานแฟชั่นเราไม่จำเป็นต้องปักลายใหญ่ๆ เพราะการปักใหญ่ผลเสียคือผ้าจะแข็ง เราปักไม่ต้องมากนัก สร้างมูลค่าให้กับชิ้นงาน”

มองแนวโน้มธุรกิจการ์เมนท์

สำหรับความเห็นต่อสถานการณ์และแนวโน้มของอุตสาหกรรมการ์เมนท์ในฐานะผู้ทำงานใกล้ชิดวงการการ์เมนท์มายาวนาน คุณดุสิตมองว่า ในส่วนของตลาดเออีซีถ้ารวมตลาดการ์เมนท์ เป็นตลาดเดียว ธุรกิจการ์เมนท์เติบโตขึ้นมากกว่าเอเชียใต้ หรืออาจะเติบโตมากที่สุดในโลก

“เพราะไม่ว่าแบรนด์เนมดังๆ ทั่วโลกที่ไหนต่างก็ใช้ เออีซี เป็นฐานการผลิตการ์เมนท์ ถ้าเทียบแล้วโตไม่แพ้จีน และโตกว่าเอเชียใต้ แต่ถ้ามองการ์เมนท์ไทยอย่างเดียว สำหรับตลาดส่งออกติดว่าน้อยลงเรื่อยๆจนถึงไม่มีเลย ที่เหลือก็คือตลาดภายในประเทศ ยกตัวอย่าง เสื้อผลิตในกัมพูชา หรือเวียดนาม นำเข้ามาทำเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น ปัก สกรีน ใช้กันในประเทศและค้าขายกันในกลุ่มเออีซีด้วยกัน”

อย่างไรก็ดี ตลาดเออีซีเองก็ยังมีอีกหลายมิติ เครื่องจักรปักใหญ่ๆ ก็จะกระจายไปอยู่ในประเทศที่ผลิตการ์เมนท์มากๆ อย่างอินโดนิเซีย พม่า เวียดนาม ส่วนเครื่องจักรปักหัวเดียว จักรปักสองหัว หรือ 4-6 หัวก็จะเหมาะกับตลาดในประเทศไทย

ความนิยมของแฟชั่นสกรีนและปัก กับความยากง่ายในการผลิต

สำหรับความนิยมในการใช้งานปักนั้น คุณดุสิตมองว่าไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ หรือองค์การ ก็ยังเป็นงานปักในการใช้โชว์ตัวแบรนด์โลโก้ แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับงานสกรีนก็นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีเครื่องสกรีนเองก็ฉลาดขึ้น

“เพราะฉะนั้นเวลาทำโปรดักชั่นโชว์ลูกค้า เราเองก็พยายามคิดว่าทำอย่างไรให้งานปักกับงานสกรีนมันไปด้วยกันได้ ลูกค้าก็มีทั้งงานปักและงานสกรีน เราพยายามซัพพอร์ทลูกค้าทั้งสองแบบ คุณลงทุนไม่ต้องเยอะ เครื่องจักรปักไม่ต้องใหญ่ แต่คุณก็สามารถทำงานได้ทั้งสองอย่าง”

“อันที่จริงงานของแบรนด์อย่างไนกี้ อาดิดาส ก็สลับกันไป บางทีก็นิยมปัก บางทีก็สกรีน แต่ถ้าเป็นงานเสื้อเชิ๊ตส่วนใหญ่จะเป็นงานปักโชว์แบรนด์ไม่มีสกรีน ยังไงงานปักก็ไม่มีวันหมดไป ไม่มีทางหยุดอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ๆ แล้วแต่ว่าปีไหนอะไรจะมา แต่ถ้าเป็นเสื้อทีเชิ๊ต ถ้าคนที่รับงานไม่ใช่แฟชั่นมากนัก การลงทุนเครื่องสกรีนบางทีอาจจะขาดทุน เพราะอุตส่าห์ลงทุนซื้อเครื่องสกรีนระดับแสน เพื่อจะทำงานสกรีนง่ายๆ ขณะที่คนทำสกรีนต่างจังหวัด เขาทำโต๊ะสกรีนมือ เวลาเขาดัมพ์ราคาลงมา ราคาถูกคุณภาพรับได้ ใครที่มีเครื่องจักรก็สู้ไม่ได้แล้ว เราจึงพยายามให้ลูกค้าผสมผสานทั้งปักและสกรีน ดังนั้นถ้าจะลงทุนเครื่องสกรีนราคาแพง คุณจะต้องอยู่ในตลาดที่ขายเสื้อผ้าราคาแพง เพราะตัวเครื่องสกรีนเองก็มีต้นทุนพอสมควร”

คุณดุสิต แนะนำสำหรับคนเริ่มทำธุรกิจแฟชั่นว่า เริ่มจากการเรียนรู้การทำสกรีนมือเบสิคให้เป็น ให้เข้าใจ และลงทุนเครื่องปักขนาดเล็กๆ ก่อน

“เราเองก็มีการสอนทำสกรีนลูกค้าซื้อเครื่องปักอยากสกรีนเราก็สอนทำโต๊ะสกรีน พอเก่งแล้วค่อยลงทุนซื้อเครื่อง คือเราพยายามทำสตาร์ทอัพให้กับลูกค้า”

ไขข้อกังวลของคนที่อยากทำธุรกิจปัก

“ส่วนใหญ่คนที่เริ่มต้นทำธุรกิจ มักจะกังวลคือหาลูกค้าไม่ได้ หรือไม่ได้งาน เพราะคนที่จะซื้อของมูลค่าอย่างนี้ เขาต้องศึกษาหาข้อมูล และต้องมีความตั้งใจสูง เพียงแต่จะรับงานได้มากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับทำเลเป็นอย่างไร สำคัญที่สุดคือความพยายามของตัวเอง มีเครื่องจักรปัก มีคนสอน มีงานเข้ามา ถ้าตัวเองพยายามมันก็สำเร็จ ถ้าบอกมันยาก หรือให้เวลากับมันน้อย มันก็ไม่สำเร็จ เช่น ถ้าไม่มีลูกค้ามา คุณอาจจะอยู่ในทำเลไม่ดี ต้องแก้โดยการออกไปหาลูกค้า ถ้าทำเลดีอยู่แล้วไม่ต้องออกไป คุณทำงานปักสวยหรือไม่ การผลิตงานทำได้เร็วหรือไม่ เหล่านี้คือตัววัด” คุณดุสิตกล่าว

นวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรปักในอนาคต

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครื่องจักรปัก ก็คงจะพัฒนาให้ปักในวัสดุได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น สิ่งที่พัฒนามากขึ้นอีกอย่างก็คือ ต้นทุนในการผลิตเครื่องจักรปักจะถูกลงเรื่อยๆ เครื่องจักรปักรุ่นใหม่ๆ จะมีการพัฒนาการเก็บดาต้าเบสที่มากขึ้น ต่ออินเทอร์เน็ตได้ ลิงก์ข้อมูลได้ ถ้ามีเครื่องจักรปัก 4-5 เครื่อง ทุกเครื่องสามารถค้นหา เลือกและดึงลายปักในดาต้าเบสได้ทันทีโดยไม่ต้องดาวน์โหลดให้เสียเวลา หรือแม้กระทั่งในแต่ละเซคชั่นของเครื่องจักรปัก สามารถดูได้ว่า ปักมาแสนเข็มแล้วตัวไหนต้องเปลี่ยนบ้าง การดูแลรักษาง่ายขึ้น ฉลาดขึ้น

ทางด้านความเร็วของเครื่องจักรปักขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้เทคโนโลยีของผ้าตอนนี้ก้าวไปถึงผ้ารีไซเคิล ซึ่งบอบบางลง การเร่งความเร็วขึ้นจึงไม่ใช่คำตอบในลักษณะของผ้าเกรดดีๆ แต่จะเน้นความละเอียดของฝีเข้ม เช่น ผ้าแฟชั่น ผ้าชีฟอง ผ้าแก้ว แต่ถ้าเพิ่มความเร็วสำหรับปักผ้าธรรมดาๆ ทั่วไป เช่นผ้าพื้นเมือง เสื้อผ้าเด็ก ตุ๊กตา ผ้าม่าน ก็สามารถทำได้ สิ่งสำคัญคือเลือกระดับความเร็วให้เหมาะสมกับวัสดุ ซึ่งความฉลาดของเครื่องจักรปักที่ีดี คุณภาพของฝีเข็ม จะคงที่ในทุกความเร็ว

คุณดุสิต กล่าวต่อว่า เมื่อต้นทุนการผลิตเครื่องจักรปักถูกลงทุกปีๆ จากการที่เราสามารถหาชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนได้ในจำนวนมากๆ เพราะเครื่องจักรปักมีการพัฒนาเทคโนโลยีมายาวนาน เทคโนโลยีก็ดีขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันก็มากขึ้น ผลิตได้เยอะ และเร็วขึ้น ราคาก็ถูกลง

“เมื่อก่อนเราขายเครื่องจักรปัก 7 แสนบาท ต่อตอนนี้ราคาลงมาที่ 2- 3.5 แสนบาท ก็สามารถหาซื้อได้ ถ้าเป็นเครื่องจักรปัก 20 หัว ราคาสมัยก่อนเกือบสามล้าน แต่เวลานี้ 1.5 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับเรื่องอายุการใช้งาน ยอมรับว่าเครื่องจักรปักสมัยก่อนทุกอย่างทนมาก ย้อนไป 15 ปี เครื่องจักรปักอยู่ได้เป็นสิบปีสบายๆ แต่ตอนนี้เครื่อง 5 ปี ลูกค้าต้องการใช้งาน 10 ปี จริงๆ ผมไม่แนะนำให้ลูกค้าคิดอย่างนั้น เพราะแม้เครื่องสามารถทำงานทะลุไปเป็นสิบปี แต่เครื่องจักรปักราคาถูกลงเรื่อยๆ คู่แข่งที่ทำงานแบบเดียวกันก็ซื้อเครื่องจักรปักใหม่ถูกลง แต่ความเร็วเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีดีขึ้นคุณก็สู้คู่แข่งไม่ได้ ถึงแม้จะบำรุงรักษาดีสุดทะลุเกินสิบปีก็ตาม คุณเจอคนที่ใช้เครื่องจักรปัก 5 ปี แล้วเปลี่ยนเอาเครื่องจักรปัก รุ่นใหม่ๆ มาใช้ เขาได้งานมากกว่าคุณ แล้วงานพวกนี้ถ้าทำไม่ทันลูกค้าก็ย้ายหนีไปทำที่อื่น และงานปักเองก็ถูกลงๆ คุณซื้อเครื่องจักรปักแพง ระยะคุ้มทุนก็ยาว”

“ตอนนี้เครื่องจักรปักที่เมื่อก่อนซื้อจากญี่ปุ่นแพงๆ จอดเต็มเลย รับงานสู้เครื่องจักรปักราคาถูกรุ่นใหม่ไม่ได้ เครื่องทนจริงแต่ฉลาดน้อยกว่า ความเร็วก็น้อยกว่า เทคโนโลยีพัฒนาทุกปี ฉลาดขึ้นทุกที ปักได้ดีขึ้น ความเร็วดีขึ้นทุกปี แต่ราคาต่ำลง ซื้อเครื่องจักรปักที่ต้องใช้เป็นสิบปี ใครคิดอย่างนั้นโอกาสเจ๊งสูง เพราะคุณลงทุนเยอะ คุณจะอยู่สิบปี บางคนลงสามล้านเพื่ออยู่สิบปี บางคนลงล้านห้า เพื่อจะปักให้ได้ห้าปี พอถึงห้าปีก็เปลี่ยนรุ่นใหม่ เขาใหม่ตลอด และยังอยู่ในประกันตลอด ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษา แต่เครื่องจักรปักที่อยู่เป็นสิบปี ต้องดูแลรักษาอย่างดี ต้นทุนก็สูงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องความทนจึงไม่ใช่คำตอบ คำตอบคือมันคุ้มทุนเร็วต่างหาก” คุณดุสิต กล่าวในท้ายสุด

สำหรับผู้สนใจเทคโนโลยีเครื่องจักรปักรุ่นใหม่ ทางบริษัท Hooray จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน GFT ปีหน้า ชมเทคโนโลยีเครื่องจักรปักคุณภาพสูงของคนไทยที่ไม่แพ้ญี่ปุ่น และ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก

#Hoorayventure  #จักรปัก